นอกจากเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปีแล้ว ภายใน ‘วัดท่าพูด’ ยังมี ‘พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด’ สำหรับเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวสำคัญ ๆ ในอดีต หากดูจากหลักฐานจารึกที่แผ่นอิฐมอญบนผนังพระอุโบสถ จึงสันนิษฐานได้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นช่วงอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยกลุ่มคนที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อหลบภัยหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 และมาตั้งหลักแหล่งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ถือเป็นวัดสำคัญที่อยู่คู่กับเมืองนครปฐมมาอย่างยาวนานจนเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทางวัดมีความคิดที่จะสร้าง’พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด’ โดยมีการแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 หอพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 3 จัดแสดงโบราณวัตถุ เช่น สิ่งของที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชทานให้แก่พระอาจารย์รด เจ้าอาวาสคนแรกและเป็นอดีตพระราชาคณะกรุงศรีอยุธยา นอกจากนั้นยังมีเครื่องถมปัด ส่วนที่ 2 กุฏิอดีตเจ้าอาวาสหลังเก่า พ.ศ. 2502 จัดแสดงเครื่องใช้ของเจ้าอาวาส เครื่องบริขารต่าง ๆ และสมบัติของวัด เช่น เครื่องแก้ว เครื่องกรองน้ำ เครื่องปั้นดินเผาที่ได้จากแม่น้ำหน้าวัด รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เถรรอดเพล (เถร-อด-เพล) เป็นเครื่องเล่นลับสมองของคนไทยโบราณทำจากไม้ และมีภาพถ่ายทางอากาศของวัด สุดท้ายเป็นส่วนที่ 3 อาคารเรียนพระปริยัติธรรมสมัยรัชกาลที่ 5-6 เป็นอาคารไม้สักประดับลายไม้ฉลุ (ขนมปังขิง) หน้าจั่วเป็นรูปเครื่องหมายมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร ชั้นบนมุมหนึ่งเก็บรวบรวมหนังสือพิมพ์สมัยต่าง ๆ รวมถึงหนังสือ และเอกสารต่าง ๆ ที่ทางวัดเก็บไว้ ส่วนใต้ถุนอาคารจัดเก็บเครื่องวิดระหัดน้ำเข้านา จึงเป็นอีกหนึ่งวัดโบราณที่มีทั้งความศักดิ์สิทธิ์และมากมายไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ เปิดเฉพาะวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. +668 1941 6637 (คุณวิรัชน์), +668 9786 4533 (คุณมานะ), +66 3428 8852, +66 3432 1122 (เจ้าอาวาส)